ชมงานศิลปะที่ LACMA กับศิลปินแห่งชาติ

11:15 PM
            Los Angeles County Museum of Art (LACMA) ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก http://www.lacma.org/  ตั้งอยู่ที่
5905 Wilshire Blvd.
ในเมือง Los Angelesได้ยินมาว่ามิวเซียมแห่งนี้มีเศรษฐีใจดีบริจาคเงินประมาณ 50 ล้านเหรียญฯในการก่อสร้าง ด้วยความหวังที่จะให้นครลอสแอนเจลิสเป็นเมืองแห่งศิลปะ  
                การไปเยี่ยมชม LACMA คราวนี้ เป็นจังหวะชีวิตที่น่าตื่นเต้น เพราะได้ไปกับคณะศิลปินแห่งชาติของไทย ซึ่งได้เดินทางมาเปิดนิทรรศการศิลปะแลกเปลี่ยนนานาชาติระหว่างไทยและสหรัฐฯปี 2008 ประกอบด้วย ดร.ถวัลย์ ดัชนี, ศ.เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ, ดร.กมล ทัศนาญชลี, ศ.เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, ศ.เดชา วราชุน รวมทั้งอ.ประเทือง เอมเจริญ ซึ่งแม้จะไม่ได้เดินทางมาด้วยตนเองก็ได้ส่งผลงานมาจัดแสดง นอกจากนี้ยังมีผลงานของรศ.สรรณรงค์ สิงหเสนี ซึ่งเป็นศิลปินรับเชิญด้วย


              นอกจากคณะของศิลปินแห่งชาติแล้ว คุณจักร บุญ-หลง กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสในสมัยนั้น พร้อมด้วยภริยาและลูกชายคนโต รวมทั้งกงสุลนิภาได้เดินทางมาสมทบด้วย พวกเราได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของ LACMA นำโดยแนนซี่ โทมัส รองผู้อำนวยการฝ่ายจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งมากล่าวต้อนรับก่อนการเข้าชม
แนนซี่ โทมัส (ขวาสุด) กล่าวต้อนรับคณะศิลปินแห่งชาติ

                มาพร้อมกับความหวัง และก็ไม่ผิดหวังแต่อย่างใด ขอบอกว่านับตั้งแต่ก้าวเข้าไปใน Broad Contemporary Art Museum ต้องบอกว่า ชอบจริงๆ เพราะแนวงานที่ร่วมสมัย ดูแล้วเข้าถึงได้ไม่ยาก ที่นี่เป็นศูนย์รวมงานศิลปะในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะงานแนวสมัยใหม่แบบป๊อบอาร์ต ขอไม่อธิบายถึงรายละเอียดของชิ้นงาน แต่อยากให้ไปดูกัน เปรียบเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง ถ้าเล่าให้ฟังทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วใครจะอยากไปดู แต่ขอเกริ่นเป็นพรีวิวเล็กน้อยว่าอย่าลืมเข้าไปเดินดูชิ้นเหล็กขนาดใหญ่ที่เอามาจากเรือบริเวณชั้นล่าง แล้วลองค้นหาว่ามีอะไรที่น่าทึ่งเมื่อเดินออกมาแล้ว

               ไฮไลท์ของการมามิวเซียมหนนี้ นอกจากงานศิลปะแล้วยังได้สัมผัสเรื่องราวจากคำบอกเล่าของศิลปินแห่งชาติที่ใครได้รู้จักแล้วจะสร้างอนาคตได้ เพราะหากคุณรู้จักประหยัดก็จะทำให้มีอนาคตที่ดี มุกหนึ่งของ ศ.เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ที่ยิงเข้ามาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว การเดินดูงานไปคุยกับอ.ประหยัดไปทำให้มีรสชาติแบบครบเครื่อง
                ผมเป็นเด็กบ้านนอก เกิดที่จ.สิงห์บุรี อยู่ในชนบท เป็นคนลาวพวน มีขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ มีภาษาเป็นของตัวเอง พ่อเป็นครู ชีวิตตื่นมาลืมตาก็เจอแต่ทุ่งหญ้าเพราะแต่ก่อนไม่มีถนน ไปกรุงเทพฯใช้เวลาเกือบทั้งวัน สิ่งที่ติดฝังลึกอยู่ในใจคือทุ่งนา บ้านนอก นุ่งผ้าซิ่น ใส่เสื้อคอกระเช้า อยู่กันทั้งครอบครัว รักใคร่กลมเกลียวกัน อ.ประหยัดเปิดใจถึงที่มาและตัวตนของท่าน เป็นการปูพื้นให้เข้าใจก่อนจะบอกว่า แนวงานจึงออกมาในรูปของสัตว์ต่างๆ พวกวัว พวกควาย ทิวทัศน์ และวัดที่เก่าแก่ ล้วนแล้วแต่มีแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ
อ.ประหยัด พงษ์ดำ กับผลงานของท่านที่นำมาแสดงในนิทรรศการศิลปะแลกเปลี่ยนนานาชาติระหว่างไทย-สหรัฐฯปี 2008
             “คือไม่เสแสร้งดัดแปลง เข้าใจอะไรก็เขียนไปตามที่เข้าใจ ศิลปะสมัยใหม่ก็เรียนมาแต่ไม่ชอบทำ เพราะแสดงออกไม่ได้อย่างที่เราเข้าใจหรือที่เรารู้ งานเป็น Semi คือครึ่งๆระหว่างความจริงกับความนึกฝัน ศ.เกียรติคุณท่านนี้กล่าวสมทบ
                ท่านยังบอกเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเราด้วยว่า งานที่แสดงในมิวเซียมที่เห็นออกในแนวสมัยใหม่ ที่คนรุ่นท่านไม่ค่อยเข้าใจโดยเฉพาะพวกเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ยังซาบซึ้งในเรื่องศีลธรรม ประเพณี ไม่ปรู๊ดปร๊าดเหมือนสมัยนี้
                อ.ประหยัดจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วได้รับทุนไปเรียนต่อที่อิตาลี 4 ปี ท่านบอกได้อะไรกลับมาเยอะ อย่างไรก็ตามความเป็นตัวของตัวเองยังคงอยู่ แม้จะหันมาใช้วัสดุหรือเทคโนโลยสมัยใหม่ แต่ความรู้สึกยังเป็นเรื่องเก่า การดูงานศิลปะ สำหรับคนที่จะเข้าใจอะไรได้ก็ต้องผ่านประสบการณ์มาก่อน ท่านเปรียบกับเรื่องความรัก หากเราไม่เคยมีความรักก็จะไม่เข้าใจว่ารักคืออะไร
                รูปที่เขียนได้ดีต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ลอกใครเขามา ไม่ต้องเซ็นชื่อก็รู้ว่าใครวาด เมื่อตอนพ.ศ. 2503 ในหลวงเสด็จประพาสยุโรป ตอนนั้นผมอยู่ที่อิตาลี ทำ Exhibition ถวาย ท่านทอดพระเนตรรูปของผมรูปหนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นผมชอบงานของอาจารย์ชะลูด นิ่มเสมอ งานที่ออกมาก็เลยคล้ายๆแก ในหลวงรับสั่งว่านี่ของประหยัดเหรอ ดูไกลๆนึกว่าชะลูด ผมรู้สึกทันที อ.ประหยัดเล่าให้ฟัง โดยสิ่งนี้ทำให้ท่านสอนคนรุ่นใหม่ให้เขียนงานที่ตัวเองชอบและเข้าใจ ท่านเปรียบเปรยแบบเห็นภาพว่า ไม่ใช่ว่าอยู่บนดอยแล้วเห็นคนเขียนทะเลสวยก็ไปเขียนทะเล อย่างผมอยู่บ้านนอกก็ไม่ดัดจริตไปเขียนแบบเด็กในเมืองกรุง อะไรที่มันเข้าไปอยู่ในใจ ประทับใจแล้วมันแกะออกยาก
                นอกจากบทบาทของศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ผู้สอน อ.ประหยัดยังเป็นที่รักของลูกๆหลานๆ ด้วยความใกล้ชิดผูกพันกับครอบครัว ทำให้ท่านต้องรีบกลับเมืองไทยหลังเสร็จภารกิจการแสดงงาน นอกจากนี้ท่านยังมีงานรออยู่ นั่นคือการเขียนประวัติ 9 รัชกาล  



No comments:

Powered by Blogger.