เรียนรู้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จันทบุรี
คณะสื่อมวลชนของเรานำโดยท่านกงสุลใหญ่จักร บุญ-หลง กงสุลวุฒิโรตม์ รัตนะสิงห์และคุณชูวิทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการททท.แอลเอได้ออกจากโรงแรมเอเมอรัลด์ มุ่งหน้าสู่อ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ตลอดระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร บางคนก็แอบงีบเพื่อเอาแรง บ้างก็คุยกัน ส่วนเราชอบมองวิวที่รถขับผ่าน สังเกตว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยยังมีความชุ่มชื้น ทั้งต้นไม้ใบหญ้า และภูเขา ดูแล้วสบายตา
จากถนนสุขุมวิท เราเลี้ยวเข้ามาเป็นทางเล็กๆคดเคี้ยวนิดหน่อย เมื่อรถวิ่งเข้าไปลัดเลาะทิวเขา ไม่นานเราก็เห็นแผ่นฟ้าบรรจบกับแผ่นน้ำของท้องทะเลไทยที่สวยงาม เมื่อรถเริ่มชะลอก็เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าใกล้ถึงเต็มทีแล้ว และแล้วเราก็มาถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มารอรับพร้อมด้วอาหารว่าง เราใช้เวลาพักนิดหน่อยจากนั้นก็ตรงเข้าไปห้องประชุมเพื่อรับฟังการบรรยายสรุปความเป็นมาของโครงการนี้ที่ได้เริ่มก่อตั้งตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 โดยมีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีตอนหนึ่งว่า “ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตที่ดินชายฝั่งทะเล จังหวัดจันทบุรี” จากนั้นทางจังหวัดจันทบุรีได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและพิจารณาความเหมาะสมจึงกำหนดพื้นที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ศูนย์ศึกษาดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาสาธิต และการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล โดยวิธีการผสมผสานความรู้อันหลากหลายของแต่ละหน่วยงานเพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสมและยั่งยืนตลอดไป หลายคนบอกว่าเหมือนฟ้ามาโปรด เพราะจากความเสื่อมโทรมของแนวป่าชายเลนได้กลับกลายมาเป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งถือว่าที่สมบูรณ์ที่สุดของจันทบุรีจำนวน 1,300 ไร่
พื้นที่ดำเนินงานและพื้นที่ขยายผลศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ครอบคลุม 33หมู่บ้าน ในตำบลคลองขุด, ตำบลรำพัน, ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ และ ตำบลสนามไชย, ตำบลกระแจะ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ประมาณ 71,025 ไร่ พื้นที่ศูนย์กลาง บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 4,000 ไร่การดำเนินกิจกรรมจะเป็นการผสมผสาน ระหว่างป่าไม้และประมง พื้นที่รอบนอก เป็นทั้งเขตเกษตรกรรม และเขตหมู่บ้านประมงตลอดแนวชายฝั่ง มีพื้นที่ประมาณ 57,025 ไร่ การดำเนินกิจกรรมมุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการ พื้นที่ขยายผล มีประมาณ 10,000 ไร่ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่ประสบความสำเร็จในศูนย์ฯ สู่พื้นที่โดยรอบ
การดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ของโครงการนี้เรียกได้ว่านับตั้งแต่ยอดเขาสู่ท้องทะเลเลยทีเดียว เป็นการผสมผสานจากหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาอาชีพของราษฎร ซึ่งประการหลังได้มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรที่หลากหลายให้เหมาะสมตามพื้นที่ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาไปสู่การรวมกลุ่มการเกษตรเชิงพาณิชย์ มีการส่งเสริมให้ผลิตพืชเศรษฐกิจ เช่นข้าวครบวงจร การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เพื่อลด ละ เลิกการใช้ปุ๋ยและสารเคมี การแปรรูปผลผลิตการประมงเช่น กะปิ น้ำปลาชั้นเยี่ยม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่นกุ้งทะเล เพื่อการส่งออกในโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก
หลังจากฟังบรรยายสรุปแล้ว เราได้มีโอกาสไปปล่อยปลากระพงขาวสู่ท้องทะเล จากนั้นมารับประทานอาหารกลางวันซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเลสดๆ เมื่ออิ่มหนำสำราญก็นั่งรถแทรมเพื่อเข้าไปชมพื้นที่ของโครงการ และนี่ถือเป็นไฮไลท์ของการเดินทางมาที่นี่ก็ว่าได้ เราเข้าไปดูพื้นที่ป่าชายเลนของจริง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยบรรยายและตอบข้อซัก-ถาม การเข้าไปยังพื้นที่ป่าชายเลนนั้นสะดวกสบายเพราะมีการสร้างสะพานไม้ความยาวประมาณ 1,790 เมตร ถือเป็นการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตแถมได้สูดกลิ่นอายที่บริสุทธิ์จากผลผลิตของป่าชายเลนซึ่งเต็มไปด้วยต้นโกงกาง แสม ลำพู อีกทั้งยังได้เห็นสัตว์นานาชนิด เช่น ปูเปี้ยว ปูก้ามดาบหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปูส.ส.เพราะก้ามที่ชูขึ้น บางคนบอกว่าเหมือนการที่ส.ส.ยกมือในสภา แต่บางคนก็จินตนาการว่าเหมือนส.ส.ที่ชอบอวดศักดา อันนี้ก็ตามสบายแล้วแต่ใครจะคิดค่ะ หรือแม้แต่งูก็ออกมาให้คณะของเราอกสั่นขวัญแขวนตอนที่เราเดินมาถึงอนุสรณ์หมูดุดหรือพะยูน ซึ่งเจ้าสัตว์ชนิดนี้ในอดีต ถือเป็นเจ้าแห่งอ่าวคุ้งกระเบน แต่มาวันนี้สูญพันธุ์ กลายเป็นตำนาน มีแค่รูปปั้นเอาไว้ให้ดูเท่านั้น อีกจุดที่ถือว่าสวยงามคือสะพานแขวน หลายคนอดที่จะบันทึกภาพไว้ไม่ได้ เดินมาได้พักใหญ่ๆก็มีเจ้าหน้าที่เตรียมน้ำสำรองเย็นๆเอาไว้ให้ดับกระหาย นี่เป็นอีกคำที่เพิ่งเคยได้ยิน เมื่อถามไปก็ได้ความว่าเป็นพืชสมุนไพรพบส่วนมากที่ป่าเมืองจันท์และตราด มีสรรพคุณช่วยลดไขมัน ตอนแรกไม่กล้ากินเพราะกลัวจะต้องเป็นตัวสำรอง แต่พอฟังถึงคุณประโยชน์แล้วก็ต้องยกดื่มอย่างไม่ต้องลังเลใจกับความเชื่อขำๆอีกต่อไป
จากนั้นเราไปต่อที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างทางผ่านชายหาดมีผู้คนมาเล่นน้ำมากมาย เพราะที่ศูนย์นี้เขามีโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงพัฒนาไว้บริการประชาชน นอกจากจะได้ชมทิวทัศน์ มาค้างอ้างแรม นอนเตนท์ พายเรือแคนู การมาเที่ยวของคุณจะได้ความรู้กลับไปซึ่งบางคนอาจใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพได้ด้วย เรียกได้ว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ปลาเศรษฐกิจ ปลาสวยงาม ปลาในแนวปะการัง และปลาที่มีรูปร่างแปลก ที่ถือว่าได้ว่าเป็นพันธุ์ปลาที่หายาก ในแถบทะเลตะวันออก อาทิ ปลาการ์ตูน (นีโม) ปลาผีเสื้อลายไขว้ หอยมือเสือ ปลาสิงโต ปลานกขุนทองปากหนา ปะการังเขากวาง ปะการังดอกแดง ฯลฯ ภายในมีอุโมงค์อะครีลิกทำให้เรามองเห็นฝูงปลาได้อย่างชัดเจน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯมีรางวัลเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จของการดำเนินงานโดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงพัฒนา นั่นคือรางวัลกินรีทองประจำปีพ.ศ.2543 รางวัลกินรีเงิน ประจำปีพ.ศ. 2545 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
อยากให้คุณๆแวะไปเที่ยวสถานที่อันสมบูรณ์แบบแห่งนี้ จะได้รับรู้ถึงพระปรีชาญาณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้
No comments: