ชมพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)

11:08 PM


จากเชียงรายเรามุ่งตรงสู่เชียงใหม่ด้วยการโดยสารรถตู้ทำให้ได้เห็นทัศนียภาพของทิวเขาทางภาคเหนือ พบซากความแห้งแล้งจากการเกิดไฟไหม้เป็นระยะๆ เชื่อว่าสาเหตุปะปนกันไปทั้งการเสียดสีของไม้แห้งตามธรรมชาติและการเผาป่า แต่นั่นก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ความชุ่มชื้นและพื้นที่สีเขียวยังมีให้เห็นโดยทั่วไป เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงเห็นจะได้ ก็เข้าสู่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง .เชียงใหม่ เพื่อเข้าชมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่งอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ

สาเหตุของการจัดตั้งโครงการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ต.แม่งอน เมื่อราวต้นเดือนตุลาคม .. 2549 จากนั้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม .. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว ทรงมีพระราชดำรัสกับนายวิชัย แหลมวิไล อธิบดีกรมป่าไม้ และนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ รองเลขาธิการ กปร. ให้ช่วยดูแลราษฎรและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณลุ่มน้ำแม่งอนนับจากนั้นเป็นต้นมา
จากข้อมูลพบว่า อันที่จริงแล้วบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) ซึ่งนับเป็นโรงงานหลวงแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 เพื่อแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นปัญหายาเสพติดที่จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่อีกมากมาย ต่อมาได้รับการพัฒนาจนเป็นโรงงานสีเขียวเพื่อเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์พลังงานและธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งแปรรูปผลไม้สดให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เรารู้จักกันดีในชื่อดอยคำแต่จากภัยน้ำท่วมที่กล่าวไปแล้วทำให้โรงงานได้รับความเสียหาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯได้ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)” แหล่งรวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดำริในการพัฒนาและเพื่อความคงอยู่อย่างยั่งยืนของโรงงาน

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑(ฝาง) ประกอบไปด้วยอาคารที่ออกแบบได้อย่างลงตัว ภายในแบ่งเป็นห้องนิทรรศการต่างๆที่ถูกจัดวางและตกแต่งได้อย่างน่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งความรู้และสันทนาการได้อย่างยอดเยี่ยมประมาณว่าเด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี และนอกจากคณะของเราจะได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ของโครงการแล้ว ยังมีเยาวชนอาสาที่แต่งกายด้วยชุดชาวเขามาคอยอำนวยความสะดวกให้อีกด้วย ที่นี่เราได้พบกับไกด์อาสา ชื่อว่าน้องหญิงๆเธอทำหน้าที่พาเราชมห้องนิทรรศการต่างๆแบบ Exclusive โดยห้องแรกที่เราไปเยือนคือการเล่าความเป็นมาของชนกลุ่มน้อยซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มชาวเขาเผ่าต่างๆและชาวจีนเชื้อสายฮ่อ ซึ่งเป็นบรรพบรุษของไกด์อาสาที่มาบรรยายให้เราฟังด้วย มิน่า...น้องหญิงถึงออกเสียงภาษาจีนได้อย่างไพเราะ ห้องนี้ยังมีวัตถุสะสม ข้าวของเครื่องใช้ที่ได้รับการบริจาคและบางส่วนก็ไปหยิบยืมมาจากชาวบ้านของชุมชนท่ายาง สะท้อนให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของบรรพบุรุษ

ภายในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวยังเป็นแหล่งรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับโครงการหลวง  2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯกับงานพัฒนา การเกษตรอุตสาหกรรมในประเทศไทย 3. ความเป็นมา และบทบาทต่อสังคมของบริษัทดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด 4.พัฒนาการด้านการบนเกษตรที่สูง 5.ประวัติและความเป็นมาของชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย 6.สาธารณสุข และการศึกษาของชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย 7.การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง)

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการภาพถ่ายชาติพันธุ์ นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) กับชุมชนบ้านยางและชาวไทยภูเขา ผ่านมุมมองของช่างภาพมืออาชีพอันประกอบด้วย นพดล ขาวสำอางค์ ชำนิ ทิพย์มณี กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ซึ่งภาพทั้งหมดประกอบด้วยภาพเกี่ยวกับโรงงานและเครื่องจักร(Factory) ภาพบุคคล (Portrait) ภาพภูมิทัศน์ (Landscape) และภาพสถาปัตยกรรมท้องถิ่น (Local Architecture) และนอกจากภาพถ่ายแล้ว ได้มีการนำเครื่องจักรเก่าที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมมาจัดแสดงไว้ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ถือเป็นอุทธาหรณ์ที่ทุกฝ่ายจะช่วยป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอยอีกเป็นอันขาด
ชมพิพิธภัณฑ์กันจนอิ่มตากันแล้ว จุดสุดท้ายเป็นห้องจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของดอยคำ พวกเราอุดหนุนกันจนคนขายไม่ได้ว่างกันเลย ก็ทุกอย่างล้วนแล้วแต่น่าซื้อทั้งนั้นทั้งของกินที่แปรรูปมาจากผัก ผลไม้ และที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่นคือซาลาเปาไส้ต่างๆที่บรรดาเยาวชนอาสาเชียร์ว่าอร่อยนักหนา จนต้องซื้อมาชิมซึ่งก็ไม่ผิดหวังแต่อย่างใด เราไม่ลืมที่จะเลือกโปสการ์ดซึ่งเป็นภาพถ่ายสวยๆกลับมาเป็นที่ระลึกอีกด้วย


No comments:

Powered by Blogger.