ชีวิตเปลี่ยนด้วยไร่นาสวนผสม คำบอกเล่าของเกษตรกรหญิงดีเด่น

6:13 AM
เรามีโอกาสเข้าไปรับฟังคำบอกเล่าของ"สุภาวดี ปิยนุสรณ์” เกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสม พื้นที่ 30 ไร่ ที่ตำบลบางเค็ม จังหวัดเพชรบุรี แถมยังได้สัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกรถือเป็นประสบการณ์ของชีวิตที่มีคุณค่า เมื่อไปถึงได้รับ Welcome drink เป็นน้ำมะพร้าวน้ำหอม เฉาะกันสดๆคนละ 1 ลูก เรียกได้ว่าดับกระหายคลายร้อนกันได้เป็นอย่างดี จากนั้นเราก็มานั่งฟังคำบอกเล่าจากคุณสุภาวดี ที่ชีวิตได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหลังเปลี่ยนจากการทำนาเพียงอย่างเดียวมาเป็นการทำไร่นาสวนผสม และลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ยเคมี แต่หันมาใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ

เธอเริ่มต้นเล่าถึงปัญหาจากการทำนาที่ว่า ชาวนากำหนดราคาข้าวไม่ได้ ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลางอีกทั้งค่าใช้จ่ายและทุนมีจำนวนมาก ชาวไร่ชาวนาไม่ประหยัด จะใช้ปุ๋ยเคมีที่มีต้นทุนสูง แต่จากการที่ได้มาเปลี่ยนแปลง ราวปีพ.ศ.2537 ได้รู้จักกับหัวหน้าเกษตรอำเภอเขาย้อย และเกษตรตำบลซึ่งแนะนำให้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ตรงนี้โดยการเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างระบบการผลิตทางการเกษตร ปี 2537 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับสินเชื่อมาทำไร่นาสวนผสม ปลูกไม้ผล พืชผัก เลี้ยงสัตว์ และเลี้ยงปลาในพื้นที่ 10 ไร่ ก็ได้รับผลตอบแทนดีขึ้นเรื่อยๆ
ที่ต้องการเปลี่ยนเพราะทำนาประสบกับปัญหาเยอะ เช่นเรื่องศัตรูพืช น้ำท่วม ทำให้ขาดทุน โดยเริ่มทำไร่นาผสมตามทฤษฎีใหม่ เริ่มต้นจากการดูงาน สุภาวดีจบแค่ป.6 จำวิธีการทำนาจากคุณลุง ไปขอละอองข้าวมาจากโรงสีโพธิ์แก้ว แต่พอมาทำสวนก็จำตรงนี้ว่าละอองข้าวมีประโยชน์ จึงจำเอาไว้เพื่อประยุกต์ในการทำปุ๋ยหมัก ใช้ละอองข้าวแทนรำ เพราะประหยัดกว่า คุณภาพใช้แทนกันได้ จากนั้นได้รู้จักทนายดินจึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยน้ำธรรมชาติ และแนะนำให้ชาวบ้าน คุณสุภาวดีเล่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบ
กษตรกรดีเด่นผู้นี้ยังบอกด้วยว่าสมัยก่อนที่เขาย้อยไม่มีมะพร้าวน้ำหอมให้กินอย่างในทุกวันนี้ต้องไปซื้อไกลถึงดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จึงตัดสินใจปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชหลัก และมะขามเทศมัน โดยมีเหตุผลว่ามีความต้องการจากตลาด คิดแปลกกว่าคนอื่น ตอนเริ่มปลูกใหม่ๆมีปัญหา แต่ก็ผ่านมาได้ ตอนเริ่มปลูกมะพร้าวน้ำหอมกว่าจะได้ผลนานถึง 3 ปี จึงปลูกมะขามเทศมันแทรกตรงกลางกว่าจะได้ผล 1 ปีครึ่ง และเลือกพื้นที่ปลูกพืชล้มลุกเช่น แตงกวา แตงไทย คือทำทุกอย่างที่ได้เงิน ไม่ต้องรอ ชะอม ดอกแค มะขามเปรี้ยว ทุกอย่างทำให้มีรายได้ทั้งหมดและแบ่งพื้นที่ไว้ทำนาด้วย
 คุณสุภาวดีได้แนะนำว่าการอยู่รอดของชาวไร่ชาวสวนมีหลายวิธี อย่างการเป็นแม่ค้าเองไม่ผ่านคนกลาง มีโอกาสดีเพราะการที่ออกไปขายมะพร้าวจะได้ลุกค้าที่ตามเข้ามาถึงในสวน  อีกทั้งไม่ลืมที่จะไปเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพาะกล้า การตอนต้นไม้ที่ราชภัฎฯ การเรียนนั้นสามารถทำได้ตลอดชีวิต ตราบใดที่เราต้องการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง
มีรายได้ทุกวัน ลูกช่วยเหลือครอบครัว ยังนึกอยู่ว่า 10 ปีที่แล้วหากไม่ได้มาทำตรงนี้ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ปัจจุบันมีใครมาถามก็จะบอกทุกอย่างและให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพกลับไปด้วย เธอกล่าวถึงการแสดงน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมชาติซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย

เราได้ไปชมสวนมะพร้าวของคุณสุภาวดี และบริเวณบ้านของเธอบนเนื้อที่กว้างขวางถึง 30 ไร่ถูกจัดสรรอย่างมีระบบ ทำนา ไร่ ปลูกไม้ผลผสมผสาน โดยปลูกแบบยกร่องจำนวน 24 ไร่ ปลูกผัก และพืชสมุนไพรแซมในสวนไม้ผล เลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่ชน จำนวน 100 ตัว เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ในร่องสวนประมาณ 30,000 ตัว
เหนือสิ่งอื่นใด คุณสุภาวดี ยังได้ปลูกหญ้าแฝกจนได้รับรางวัล แต่รางวัลไม่ใช่เป้าหมายในการเริ่มต้นปลูกหญ้าแฝก เพียงแต่เธอตั้งใจทำดีเพื่อในหลวง แต่ที่ชนะเพราะมีความอดทน คือการปลูกหญ้าแฝกในรากมะพร้าว แม้ว่าเกษตรกรดีเด่นผู้นี้จะบอกเสมอว่าไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่จากความวิริยะอุตสาหะสิ่งตอบแทนต่างๆได้เข้ามาสู่ครอบครัวของเธอ คือรายได้ที่เข้ามาจุนเจือแถมสมาชิกของครอบครัวยังหันหน้ามาช่วยกันทำมาหากิน เห็นคุณค่าของเงิน และเห็นใจกันและกันอย่างแท้จริง

No comments:

Powered by Blogger.