Floral Street Fair
เมืองมอนเทอเรย์พาร์ค (Monterey Park ) ซึ่งมีการขนานนามว่าเป็นไชน่าทาวน์แห่งที่สองในแอลเอเคาน์ตี้ ตั้งอยู่ห่างจากดาวน์ทาวน์แอลเอไปทางตะวันออกราวๆ 10 ไมล์ มีชาวอเมริกันเชื้อสายจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นที่สุด คิดเป็น 47.7% ของจำนวนประชากรในเมืองแห่งนี้ ( US. Census 2010)
การที่ชุมชนจีนมาจัดงานที่เมืองมอนเทอเรย์พาร์คถือว่าคิดถูกและคิดดีทีเดียว เนื่องจากสถานที่ไม่แออัด หาที่จอดรถง่ายจึงสะดวกแก่ผู้มาร่วมงาน แม้จะมีการปิดถนนที่มีระยะทางเป็นแนวยาวแต่ก็ไม่ทำให้การจราจรติดขัดจนทำให้ต้องรำคาญใจ อีกทั้งบนสองฝั่งฟากถนนก็มีเนื้อที่กว้างขวาง เวลาเดินเที่ยวงานไม่ต้องหงุดหงิด ชนคนนั้นทีคนโน้นที อีกทั้งเปิดให้เที่ยวงานได้สองวัน สร้างทางเลือกให้นักเที่ยว จากการประเมินคาดว่ารวมสองวันน่าจะมีคนมาเที่ยวงานเกือบแสนคนเลยทีเดียว
ก่อนหน้านี้ เทศกาลดังกล่าวถูกเรียกว่า Lantern Festival เพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น Floral Street Fair เมื่อปี 2008 อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของการจัดงานไม่ได้เป็นเพียงแค่การเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ของชาวจีนเท่านั้น แต่ผู้จัดบอกว่า เพื่อเป็นการแสดงถึงความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมเพื่อให้คนทุกชาติสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกันนั่นเอง
ทันทีที่ย่างเข้าสู่บริเวณงาน จะพบกับการออกบู้ธของบริษัทและหน่วยงานต่างๆเป็นแถวยาวซึ่งเป็นการออกร้านขายของ บ้างก็โปรโมทหน่วยงานโดยการหาเกมมาให้เล่น โดยหวังว่าจะได้ลูกค้าเพิ่ม อาทิ Western Union ที่ยกเอาเครื่องเสี่ยงโชคอย่างสล็อตแมชีนมาให้ผู้คนได้สนุกสนานกันโดยไม่ต้องเสียสตางค์ ส่วนบู้ธของกรมไปรษณีย์สหรัฐฯก็ขายดิบขายดี ปรากฏว่าแสตมป์ชุดนักษัตร 12 ราศีหมดตั้งแต่ช่วงเย็นของวันแรก อย่างว่า แสตมป์ชุดพิเศษย่อมเป็นที่ต้องตาต้องใจของนักสะสมเป็นของธรรมดา
จุดที่น่าสังเกตของงานนี้ เขาไม่หวงห้ามเจ้าของร้านค้าที่อยู่สองฝั่งในการนำเอาสินค้าในร้านออกมาขายหน้าร้านบริเวณฟุตบาท ถือว่าลูกค้าที่มาเที่ยวงานสามารถช็อบได้อย่างจุใจ ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนละแวกนั้นอย่างทั่วถึง ขนาดร้านทำผมหน้าโรงแรมลินคอล์นพลาซ่ายังมีลูกค้าแน่นเต็มร้าน ดังนั้นการไปเที่ยวงานจึงเข้าตำรา One stop shopping มาครั้งเดียวก็ได้ทุกอย่างทั้งสินค้าและบริการตามชอบใจ
ส่วนทางด้านในถูกจัดให้เป็นโซนเครื่องเล่นของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เดินต่อไปอีกหน่อยก็จะเป็นเวทีการแสดงทั้งในด้านของศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรีสด พร้อมด้วยโซนอาหารการกินจึงไม่แตกต่างจากการจัดเทศกาลอื่นๆแต่อย่างใด เบื้องหลังความสำเร็จของงานน่าจะอยู่ที่ความร่วมแรงร่วมใจกันของชุมชนชาวจีน โดยเฉพาะฝ่ายหาทุนที่สามารถดึงเอาสปอนเซอร์หลายแห่งมาช่วยสนับสนุนการจัดงานให้ใหญ่โตอย่างที่เห็น นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของงานเฉลิมฉลองต้อนรับตรุษจีน เพราะขึ้นชื่อว่าจีนก็แยกย่อยไปได้อีก ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ จีนฮ่องกง ไต้หวัน ดังนั้นจึงมีการจัดงานหลายแห่งขึ้นพร้อมๆกัน แต่ไม่อาจทราบได้ว่าเขาคิดว่าเป็นการจัดแข่งกันหรือไม่ หรือเป็นการกระจายกันช่วยโปรโมทวัฒนธรรมจีน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ทำให้คนหลายชาติที่อาศัยอยู่ที่นี่เห็นความเคลื่อนไหวเพราะสื่อของอเมริกันให้ความสำคัญในการแบ่งพื้นที่ข่าวให้งานตรุษจีนกันทุกแขนง
ชุมชนไทยก็มีการปิดถนนฮอลลีวูดจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลวันสงกรานต์เพื่อต้อนรับปีใหม่แบบไทยเรา ใช้ชื่อว่า Thai New Year Day: Songkran Festival แม้ว่าชุมชนของเราจะมีขนาดเล็กกว่าหลายชาติแต่ก็สามารถปิดถนนจัดงานดึงต่างชาติมาเที่ยวได้ ที่ดังที่สุดเห็นจะเป็น Thai Food เมื่อเอาอาหารไทยนำ ตามด้วยศิลปะมวยไทยเป็นตัวเสริมทำให้งานไทยนิวเยียร์สามารถเข้าไปอยู่ในรายการ “ต้องมาเที่ยว” ประจำปีของคนต่างชาติ เนื่องจากจัดมาหลายครั้งแล้ว ถ้ารวบรวมรูปและเรื่องเสร็จเมื่อไร คงได้ติดตามกัน
No comments: